วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"ประกันภัย" จำเป็นเพียงใด?

     เมื่อพูดถึงคำว่า "ประกันฯ" ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามต่างก็คงจะเบือนหน้าหนี เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในแวดวงของการประกันภัยเท่านั้นที่รู้ว่า "ประกันฯ" ดีมากๆ  แล้วต่างก็พากันถ่ายทอดเรื่องราวดีๆให้กับประชาชนทั่วไปที่พอมีกำลังพอที่จะ "ซื้อ" ประกันต่างๆได้
     เชื่อว่าเรื่องราวที่เกริ่นมาข้างต้น  น่าจะรู้สึกคุ้นๆกันบ้างนะครับ  หากทว่าวันนี้ทัศนคติของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป  เริ่มเป็นบวกกับคำว่า "ประกันฯ" มากขึ้น  แต่ก็ยังเป็นแค่ "เริ่ม" เท่านั้น  ยังไม่ได้ก้าวไปถึงไหนมากนักทั้งๆที่วงการประกันฯในบ้านเรามีมานานมากแล้ว เท่าที่ปรากฏหลักฐานก็มีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโน่นแหละ (ราวๆพุทธศักราช 2368)
    แต่ว่าวันนี้คงไม่ได้มาเล่าให้ทุกท่านฟังถึงประวัติศาสตร์การประกันภัยหรอกนะครับ  เดี๋ยวจะออกนอกประเด็นที่ได้จั่วหัวไว้ว่า "ประกันภัย" จำเป็นเพียงใด?
    วันนี้จะขออนุญาตนำพาท่านนั่งเครื่องย้อนเวลา หรือ Time Machine พอดีแอบขโมยของโดราเอม่อนมาน่ะครับ...
     ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2525  ที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน (ครูสอนมาแบบนั้นก็ออกจะงงอยู่ว่าตกลงแล้วตัวเรานี้อยู่ภาคไหนกันแน่) มีครอบครัวหนึ่งที่ประกอบอาชีพยอดนิยมในสมัยนั้นคือ "ทำนา" หรือถ้าเรียกให้หรูขึ้นมาหน่อยก็จะเรียกว่า "เกษตรกร" นั่นแหละ แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้มีความหมายไปกว่าปากท้องของลูกๆทั้งสี่และภรรยาอีกหนึ่ง โดยผู้เป็นสามีเป็นผู้หารายได้เข้ามาเจือจุนครอบครัว
     ด้วยความขยันของผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวไม่งอมืองอเท้า  แม้ว่าร่างกายจะไม่สมประกอบก็ตามทีแต่นั่นไม่เคยทำให้ชายผู้เป็นผู้นำครอบครัวยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเลยสักครั้ง ที่จะไม่ทำบางสิ่งบางอย่างหรือหลายๆอย่าง ท่านทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตื่นแต่เช้าก่อนใครในบ้านไปตักน้ำรดผักและเก็บผักใส่กระบุงพ่วงท้ายจักรยาน ปั่นไปขายที่ตลาดซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปอีก 7 กิโลเมตร พอสายหน่อยก็ปั่นจักรยานกลับมาพร้อมขนมมาฝากลูกๆทุกคน เป็นเช่นนี้ทุกวัน
      ด้วยความขยันและอดออมทำให้ฐานะทางครอบครัวเริ่มดีขึ้นตามลำดับ เริ่มมีรถมอเตอร์ไซค์ และรถไถนาสามารถซื้อที่ดินเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องกู้ยืมจากธนาคารแม้แต่บาทเดียว
       วันหนึ่งชายผู้นั้นกลับมาที่บ้านพร้อมด้วยซองเอกสารสีน้ำตาลและส่งให้ผู้เป็นภรรยาพร้อมกับกำชับว่าให้เก็บรักษาไว้ให้ดีๆ ภรรยาก็รับซองเอกสารนั้นไปเก็บไว้โดยมิได้เปิดอ่าน  หากลูกชายคนโตซึ่งเป็นคนช่างสงสัยและไม่อาจเก็บความสงสัยนั้นไว้ได้จึงได้แอบหยิบเอกสารนั้นออกมาอ่าน  แต่ด้วยเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคยกอรปกับยังอยู่ในวัยเยาว์จึงไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด  รู้แต่ว่านั่นคือ "กรมธรรม์" แต่ตอนนั้นเรียกว่า "กรม-มะ-ทำ"
       หลังจากนั้นเพียง 1 ปี  ชายผู้เป็นเสาหลักของบ้านได้ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงได้เข้าใจเป็นอย่างดีว่า "กรมธรรม์" ฉบับนั้น มีความจำเป็นเพียงใด...
        วันนี้...ท่านเห็นความจำเป็นของกรมธรรม์แล้วหรือยัง
                                                                                                       จุฑา ศรีตะเจริญไพบูลย์
                                                                                                         21 พฤษภาคม 2556 16:54 น.
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น